รมต.ต่างประเทศอินโดฯ-ยูเครน ร่วมหารือแผนสู่สันติภาพ
ขอบคุณภาพจาก The Jakarta Post
30-11-2024
The Jakarta Post รายงานการพบปะหารือกัน ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ ซูจิโอโน และอันดรี ซิบิฮา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ระหว่างการประชุมทวิภาคีที่อิตาลี ซึ่งทั้งสองได้หารือแผนสันติภาพ ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซีย
การประชุมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 กับพันธมิตรอินโด-แปซิฟิก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นการ "หารือเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ [ที่จำเป็น] เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งในยูเครน" ตามแถลงการณ์จากสำนักงานรัฐมนตรีต่างประเทศในกรุงจาการ์ตา แต่แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุโดยเฉพาะถึงสูตรสันติภาพที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนเสนอเป็นครั้งแรก ช่วงปลายปี 2022
ขณะเดียวกัน ซิบิฮาก็ระบุผ่าน X ว่า เขา "ยินดีที่ได้พบกับรัฐมนตรีซูจิโอโนและขอบคุณอินโดนีเซียที่สนับสนุนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน รวมถึงสูตรสันติภาพ"
แผนสันติภาพ 10 ประการนี้ รวมถึงการเรียกร้องให้ฟื้นฟูพรมแดนของยูเครนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ การถอนทหารรัสเซียทั้งหมดออกจากดินแดนของยูเครน และการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามของรัสเซีย ซึ่งมอสโกปฏิเสธแผนดังกล่าว
ก่อนสงคราม ข้าวสาลีที่อินโดนีเซียนำเข้า มาจากยูเครนถึง 25% ขณะที่สงครามทำให้ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้น
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ (2024) ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้น ได้พบกับเซเลนสกีที่การประชุมแชงกรีลาไดอะล็อกในสิงคโปร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนสันติภาพของยูเครน
การประชุมในสิงคโปร์มีขึ้นหนึ่งปีหลังจากที่ปราโบโวตกเป็นข่าวระดับนานาชาติจากการเสนอแผนสันติภาพยูเครนในแบบฉบับของเขา ซึ่งรวมถึงการหยุดยิง การถอนทหารรัสเซียและยูเครนเพื่อสร้างเขตปลอดทหาร และการเรียกร้องให้มีการลงประชามติภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติในพื้นที่ที่มีการโต้แย้ง แต่ยูเครนปฏิเสธแผนดังกล่าว โดยย้ำจุดยืนของเคียฟที่ว่ารัสเซียควรถอนทหารออกจากดินแดนที่ถูกยึดครองโดยไม่มีเงื่อนไข
ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับความขัดแย้งอย่างชัดเจน โดยลงคะแนนเสียงสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2022 ที่ประณามการผนวกดินแดนของยูเครน 4 แห่งของรัสเซีย แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น จาการ์ตาก็ยังคงลังเลที่จะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย โดยในหลายโอกาส อินโดนีเซียยังคงยืนกรานว่าจะยังคงติดต่อกับมอสโกต่อไป แม้จะมีแรงกดดันจากประเทศตะวันตกก็ตาม
ขณะเดียวกัน ในการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกที่สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายน อินโดนีเซียเลือกที่จะไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่ยูเครนร่างขึ้นและรับรองโดยไม่มีคณะผู้แทนจากรัสเซียเข้าร่วม โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุถึงการต่อต้านการใช้หรือคุกคามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ การแลกเปลี่ยนเชลยศึกทั้งหมดระหว่างทั้งสองฝ่าย และการรับประกันว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของยูเครนจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีอุปสรรค
ผู้แทนอินโดนีเซียในการประชุมครั้งนั้นกล่าวว่าแผนสันติภาพใดๆ จะต้องร่างขึ้นอย่าง “ครอบคลุมและสมดุล” ขณะที่บางประเทศไม่เต็มใจที่จะลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ารัสเซียไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 พ.ย.) ว่า “แม้จะไม่ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมในสวิตเซอร์แลนด์” แต่อินโดนีเซียยังคง “สนับสนุนกระบวนการสันติภาพในยูเครนโดยทั่วไป”
IMCT News
ที่มา https://asianews.network/indonesia-ukraine-foreign-ministers-discuss-peace-plan/