จีนพร้อมรับมือสงครามภาษีกับสหรัฐฯ
23-1-2025
จีนพร้อมรับมือสงครามภาษี หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ที่จะตั้งกำแพงภาษี 10% สำหรับสินค้าจากจีนที่อาจเริ่มใช้งานตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป
ในการแถลงข่าวรายวันในวันพุธ เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เน้นย้ำความมุ่งมั่นของจีนที่จะปกป้อง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ต่อไป โดยระบุว่า “เราเชื่อเสมอมาว่า ไม่ผู้ชนะในสงครามการค้าหรือสงครามกำแพงภาษีเลย”
หลังจากทรัมป์เอ่ยปากขู่การดำเนินแผนงานกำแพงภาษีออกมา ดัชนี CSI 300 ของตลาดหุ้นจีนปรับลดลง 0.9% ในวันพุธ หลังมีการปรับขึ้นต่อเนื่องมา 4 วัน ขณะที่ ดัชนีหลักทรัพย์ ฮั่งเส็ง ของฮ่องกงซึ่งมักขยับตามการเคลื่อนไหวในตลาดจีน ลดลง 2% ด้วย
ปฏิกิริยาของกรุงปักกิ่งมีออกมาหลังทรัมป์กล่าวว่า ทีมงานรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาแผนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 10% จากสินค้าที่มาจากจีน เพราะว่าจีนนั้น “ส่งยาเฟนทานิลเข้ามาในสหรัฐฯ ผ่านเม็กซิโกและจีน”
ปธน.สหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารว่า “ไม่แน่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์จะเป็นวันที่เราดำเนินการ(เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน)”
ความเห็นของทรัมป์มีออกมาเพียง 1 วันหลังเหมือนจะระงับการดำเนินการแผนงานนี้ไป และสั่งงานหน่วยงานรัฐบาลกลางให้ทำการตรวจสอบตัวเลขขาดดุลการค้าและปัญหาการทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมของประเทศอื่น ๆ เมื่อวันจันทร์
เสียงตอบรับทางสื่อสังคมออนไลน์จีนต่อคำขู่ของผู้นำสหรัฐฯ นั้นมีหลากหลาย
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีนบางรายกล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% อาจตามมาด้วยภาษีอื่น ๆ อีกมากมายสำหรับสินค้าจีน ขณะที่ บางคนวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ว่า เป็นคนที่ทำการตัดสินใจแบบคาดการณ์ไม่ได้และไม่คงเส้นคงวา
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อว่า Fortune Axe Brother โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเว่ยโป๋ (Weibo) ว่า “ทำไมสหรัฐฯ ต้องลำบากขนาดนั้น? สุดท้ายแล้ว คนอเมริกันก็คือคนที่ต้องควักเงินจ่าย เพราะถ้าจีนไม่ส่งออกสินค้า คนอเมริกันก็จะไม่มีแม้แต่ต้นคริสต์มาส”
นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า คำขู่ที่จะตั้งกำแพงภาษีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้อาจะเป็นเพียง “หมากเพื่อการต่อรองเจรจา” ของปธน.สหรัฐฯ เพื่อบีบจีนให้ยอมให้อะไรบางอย่างกลับมา
เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส นักวิชาการจาก Global China Hub ของ Atlantic Council บอกกับ วีโอเอ ว่า เมื่อเทียบกับคำขู่เรียกเก็บภาษี 25% จากเม็กซิโกและแคนาดาแล้ว อัตราภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจีนทำให้ดูเหมือนว่าทรัมป์นั้นดูใจดีกับกรุงปักกิ่งไปเลย
ขณะที่ ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำตามคำขู่นี้หรือไม่ ชาวจีนบางกลุ่มกล่าวว่า ธุรกิจส่งออกจีนนั้นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ผู้ส่งออกเสื้อผ้าฤดูหนาวจากนครเซี่ยงไฮ้ที่ขอใช้ชื่อว่า “หยวน” บอกกับ วีโอเอ ว่า ก่อนที่ทรัมป์จะออกมาย้ำคำขู่อีกครั้ง ลูกค้าชาวอเมริกันบางรายได้สั่งซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้ามากมาย ตั้งแต่เมื่อทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
รายงานข่าวระบุว่า บริษัทอเมริกันหลายแห่งได้เพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากจีนในช่วงปลายปี 2024 โดยข้อมูลศุลกากรทางการจากจีนแสดงให้เห็นว่า บริษัทจีนได้ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ แล้วเป็นมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า 10.7%
ขณะเดียวกัน บริษัทจีนบางแห่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือละตินอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย
ผู้จัดการโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคในเมืองกว่างโจวที่ขอเปิดเผยเพียงนามสกุล “หลี่” เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของตน บอกกับ วีโอเอ ว่า “หลังจากทรัมป์เปิดศึกสงครามการค้ากับจีนในช่วงสมัยแรก ลูกค้าอเมริกันบางรายของเราได้ขอให้ทางบริษัทย้ายการผลิตไปเวียดนาม”
แต่แม้จะมีการเตรียมการดังว่าไว้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภาคธุรกิจของจีนน่าจะยังคงมีปัญหาในการรับมือกับภาวะสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นอยู่ดี
เหอ เจียงปิง นักวิเคราะห์อิสระด้านเศรษฐกิจจีน บอกกับ วีโอเอ ว่า ทรัมป์นั้นมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำสงครามการค้ากับจีนอยู่แล้ว และรัฐบาลชุดนี้ก็กำลังจับตาดูเพื่อจัดการกับความพยายามเลี่ยงการเก็บภาษีนำเข้าของจีนด้วยการอาจตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเม็กซิโกก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม เด็กซ์เตอร์ โรเบิร์ตส นักวิชาการจาก Atlantic Council บอกว่า เนื่องจากจีนพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โอกาสของการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้
โรเบิร์ตส์ บอกกับ วีโอเอ ว่า ถ้าการส่งออกจีนได้รับผลกระทบหนัก ก็อาจนำมาซึ่งปฏิกิริยาลูกโซ่ไปยังการบริโภคในประเทศได้ เพราะหากผู้ส่งออกที่เป็นนายจ้างเกิดต้องเลิกจ้างคนงานหรือลดค่าจ้าง ผู้คนก็จะมีเงินใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในประเทศในที่สุด
ที่มา: วีโอเอ