Thailand
วิกฤตเชื้อเพลิงจรวดเสื่อมสภาพ คุกคามคลังนิวเคลียร์โลก จีน-สหรัฐฯ เผยอาวุธพร้อมใช้งานลดฮวบ
13-12-2024
งานวิจัยล่าสุดจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติด้านระบบขับเคลื่อนจรวดเชื้อเพลิงแข็งของจีนในเมืองซีอาน เปิดเผยสถานการณ์น่าวิตกที่อาจกระทบคลังอาวุธนิวเคลียร์ของโลก หลังพบว่าเชื้อเพลิงแข็งในขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่เคยเข้าใจมาก อาจทำให้ขีปนาวุธหลายร้อยลูกไม่สามารถใช้งานได้
ทีมวิจัยนำโดยวิศวกรอาวุโส ชิน เผิงจู พบว่าเชื้อเพลิงที่ประกอบด้วยแอมโมเนียมเปอร์คลอเรต ผงอะลูมิเนียม และสารยึดเกาะโพลีบิวทาไดอีน แม้จะดูเสถียรในการเก็บรักษาปกติ แต่จะเปราะบางมากขึ้นภายใต้แรงดันสูง โดยความเหนียวของเชื้อเพลิงจะลดลงหลังผ่านไปเพียง 27 ปี ซึ่งอาจทำให้เกิดการแตกร้าวระหว่างการปล่อย
สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสหรัฐฯ ที่ยังคงใช้ขีปนาวุธ Minuteman III ผลิตตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และ Trident II ที่ใช้งานมาเกือบ 30 ปี โดยเมื่อพฤศจิกายน 2023 การทดสอบ Minuteman III ล้มเหลวที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก สะท้อนปัญหาความน่าเชื่อถือของอาวุธที่เก่าลง
สหรัฐฯ กำลังเร่งพัฒนาขีปนาวุธรุ่นใหม่ LGM-35A Sentinel แต่ประสบปัญหาต้นทุนบานปลายจาก 95,800 ล้านดอลลาร์ เป็น 160,000 ล้านดอลลาร์ และต้องเลื่อนการใช้งานไปถึงปี 2029 ขณะที่การผลิตหลุมพลูโตเนียมใหม่ก็ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมาย 80 หลุมต่อปีจนถึงปี 2030 เนื่องจากขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
นักวิเคราะห์บางรายเสนอให้ขยายอายุการใช้งาน Minuteman III ไปถึงปี 2050 ซึ่งจะใช้งบประมาณเพียง 7,000 ล้านดอลลาร์สำหรับขีปนาวุธ 450 ลูก แต่ก็มีความท้าทายด้านเทคนิคเนื่องจากเอกสารล้าสมัยและขาดช่างเทคนิคที่มีความรู้
สถานการณ์นี้น่าวิตกเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับจีนและรัสเซียที่เร่งปรับปรุงคลังอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจัง แม้แต่รัสเซียเองก็ประสบปัญหาในการพัฒนาขีปนาวุธ RS-28 Sarmat เพื่อทดแทน R-36 Satan โดยการทดสอบล่าสุดเมื่อกันยายน 2024 เกิดความล้มเหลวอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับฐานยิงจรวด Plesetsk Cosmodrome แต่ด้วยความจำเป็นเร่งด่วน รัสเซียก็ยังตัดสินใจรับขีปนาวุธรุ่นนี้เข้าประจำการ
ความท้าทายทั้งในด้านเทคโนโลยีและงบประมาณเหล่านี้ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการยับยั้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามในยูเครนและการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
---
IMCT NEWS ภาพประกอบ defensenews . com
ที่มา https://asiatimes.com/2024/12/rocket-fuel-eating-away-at-us-china-nuclear-weapons/
© Copyright 2020, All Rights Reserved