เยลเลน รมต.คลัง เตือนระบบการเงินสหรัฐฯ ยังเสี่ยง เหตุปัญหาอสังหาฯเชิงพาณิชย์-คริปโต
8-12-2024
นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ระบบการเงินของสหรัฐฯ ในปี 2024 ยังคงมีความเปราะบางจากความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และสินทรัพย์ดิจิทัล แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่า คณะกรรมการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (FSOC) ยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามความเสี่ยงด้านเครดิตในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และเร่งให้หน่วยงานกำกับดูแลติดตามความสามารถของวอลล์สตรีทในการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว
นอกจากนี้ FSOC ได้เพิ่มความพยายามในการจัดการกับความเสี่ยงใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยนางเยลเลนกล่าวว่า นวัตกรรมเหล่านี้อาจมอบประโยชน์ต่อตลาด เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ก็แฝงความเสี่ยงที่น่ากังวล โดยเฉพาะด้านไซเบอร์และผู้ให้บริการภายนอก
"คณะกรรมการยังคงเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพื่อสร้างกรอบการกำกับดูแลที่ครอบคลุมสำหรับผู้ออกสเตเบิลคอยน์ และกฎหมายว่าด้วยสินทรัพย์คริปโตที่จะจัดการกับความเสี่ยงที่เราระบุไว้ นอกจากนี้ เรายังแนะนำให้พัฒนาความเชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงานเพื่อวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI ในภาคบริการทางการเงิน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรม" นางเยลเลนกล่าว
FSOC ซึ่งประกอบด้วยผู้นำธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ถูกจัดตั้งขึ้นหลังวิกฤตการเงินปี 2008 เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเชิงระบบ โดยก่อนหน้านี้ได้ระบุความเสี่ยงหลายประการที่ AI อาจก่อให้เกิดหรือขยายผลในสถาบันการเงิน รวมถึงความเป็นไปได้ในการสร้างอคติในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในโปรแกรม AI ที่ทำงานแบบ "black box" ซึ่งยากต่อการอธิบายผลลัพธ์
รายงานประจำปีฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายที่เผยแพร่ภายใต้รัฐบาลไบเดน โดยรัฐมนตรีคลังที่กำลังจะพ้นตำแหน่งได้ปกป้องบทบาทของการกำกับดูแลในการสนับสนุนระบบการเงินที่มีความยืดหยุ่น และวิพากษ์วิจารณ์สถานะของการกำกับดูแลทางการเงินในช่วงสิ้นสุดวาระแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ในรายงานระบุถึงความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์สำนักงาน โดยชี้ว่าอัตราการว่างของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของค่าเช่าที่ชะลอตัว และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์อย่างชัดเจนมากกว่าภาคที่อยู่อาศัย แรงกดดันเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น การขาดทุนจากสินเชื่อ และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองของธนาคารเพิ่มขึ้น
ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับรายงานของเฟดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ระบุว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ โดยพุ่งขึ้นถึง 11% ในธนาคารขนาดใหญ่ในไตรมาสที่สองของปี 2024 อย่างไรก็ตาม ธนาคารในสหรัฐฯ ได้เพิ่มเงินสำรองสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และสินเชื่อผู้บริโภคบางประเภท
รายงานยังกล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อภาคเอกชน (Private Credit) ซึ่งลักษณะที่ไม่โปร่งใสทำให้หน่วยงานกำกับดูแลยากที่จะประเมินแนวทางการบริหารความเสี่ยงและการสะสมความเสี่ยงในภาคส่วนนี้ โดยธุรกิจสินเชื่อภาคเอกชนเติบโตขึ้นหลังวิกฤตการเงินปี 2008 ในฐานะทางเลือกแทนธนาคาร และได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในการปล่อยกู้กระแสหลักสำหรับธุรกิจทุกประเภท ตั้งแต่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงสตาร์ทอัพเทคโนโลยี
FSOC ยังเน้นย้ำถึงการโจมตีทางไซเบอร์ว่าเป็นเหตุการณ์ที่อาจสร้างความไม่มั่นคงให้กับระบบการเงินสหรัฐฯ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ธนาคาร Industrial & Commercial Bank of China Ltd. ถูกโจมตีทางไซเบอร์เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ไม่สามารถชำระราคาการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมากได้ หลังจากหน่วยงานที่รับผิดชอบการชำระราคาตัดการเชื่อมต่อจากระบบที่ถูกโจมตีอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การโจมตีทางไซเบอร์อาจทำลายส่วนสำคัญของระบบการเงินในอนาคต
"เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามเฉียบพลันต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากระดับการเชื่อมโยงที่สูงระหว่างสถาบันการเงินและระบบการเงินทั่วโลก" รายงานระบุ พร้อมเสริมว่าจำนวนเหตุการณ์ได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และระบบการเงินสหรัฐฯ มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามที่ดำเนินอยู่
คณะกรรมการแนะนำให้มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อประเมินและบรรเทาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
---
IMCT NEWS